หญ้าเทียนเกล็ดหอย เป็นสมุนไพรไทยที่กำลังมาแรงในปัจจุบันแต่หมอยาพื้นบ้านไทยในอดีตได้มีการนำเอาสมุนไพรชนิดนี้มาใช้นานแล้วโดยนิยมนำเอาสมุนไพรชนิดนี้มาเข้าเครื่องยาพิกัดทศมูลใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยหญ้าเกล็ดหอยน้อย หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ รากละหุ่งแดง รากมะเขือขื่น รากมะอึก รากมะตูม รากลำไย รากเพกา รากแคแตรและรากคัดลิ้นโดยมีสรรพคุณช่วยแก้ทุราวสา แก้ไข้หวัดน้อย บำรุงน้ำนม แก้ช้ำรั่ว แก้สะอึก แก้ผอมเหลือง แก้ริดสีดวง แก้นิ่ว แก้กองสันนิบาต และแก้ไข้อันมีพิษนั้นเอง
หญ้าเทียนเกล็ดหอย(Black cover)โดยพืชชนิดนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Desmodium triflorum (L.) DC.จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับถั่วPapilionaceaeมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นพื้นเมืองว่า ผักแว่นดอย หญ้าตานทราย (แม่ฮ่องสอน), หญ้าเกล็ดหอย (ภาคกลางกรุงเทพฯ), ผักแว่นโคก (นครศรีธรรมราช), เกล็ดปลา หญ้าตานทราย (เชียงใหม่), หญ้าตานหอย (ภาคกลาง), หนู่เต๊าะโพ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายสายพันธุ์ของหญ้าเทียนเกล็ดหอย
หญ้าเทียนเกล็ดหอยเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทุกทวีปทั่วโลกโดยในประเทศไทยของเราสามารถพบเจอพืชชนิดนี้ได้ทั่วทุกภาคของไทยโดยระดับความสูงจากน้ำทะเลที่พืชชนิดนี้ชอบคือ1300เมตรจากระดับน้ำทะเลโดยพืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน ขึ้นตามพื้นที่รกร้างตามไหล่ทางในจังหวัดต่างๆดังนี้คือสระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ พิษณุโลก เชียงราย อุบลราชธานี พังงา นั้นเอง
ประโยชน์และสรรพคุณของหญ้าเทียนเกล็ดหอย
- เป็นยาดับพิษร้อน
- แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
- ช่วยฟอกโลหิต
- ช่วยบำรุงโลหิต
- เป็นยาแก้ไข้
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
- แก้อาการปัสสาวะขัด แก้นิ่วในกะเพราะปัสสาวะ
- ใช้เป็นยาแก้ดีพิการ
- นอกจากประโยชน์ทางยาแล้วหญ้าเทียนเกล็ดหอยยังสามารถนำมาปลูกเพื่อใช้คลุมดินได้อีกด้วย
- เป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์แก่โค กระบืออีกด้วยเนื่องจากในใบของหญ้าเทียนเกล็ดหอยมีสารอาหาจำพวกโปรตีน 17.9-23.1 เปอร์เซ็น , แคลเซียม 1.05-1.23เปอร์เซ็น , ฟอสฟอรัส 0.42เปอร์เซ็น , โพแทสเซียม 1.99เปอร์เซ็น , ADF 4-38.6 เปอร์เซ็น , NDF 47-53.5 เปอร์เซ็น , DMD 47.9-51.3 เปอร์เซ็น , ไนเตรท 633.1 ppm, มิโมซีน 0.71 ppm, แทนนิน 0.26%, กรดออกซิลิค 399.4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปของหญ้าเทียนเกล็ดหอย
- ลำต้นของหญ้าเทียนเกล็ดหอย จัดเป็นพันธุ์พืชล้มลุกตระกูลหญ้า ลำต้นจะทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-12.5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะแผ่แนบไปตามผิวพื้นดินเป็นวงกว้าง ตามบริเวณของลำต้นและใบมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน
- ใบของหญ้าเทียนเกล็ดหอย ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยอยู่ 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นทรงคล้ายรูปไข่กลับหรือรูปหัวใจหัวกลับ ปลายใบมนหรือเว้าตื้น โคนใบแหลม ส่วนขอบของใบเรียบ หลังของใบไม่มีขน ส่วนท้องมีขนเล็กน้อยถึงน้อยมาก หูใบย่อยมีขนาดเล็กมาก
- ดอกของหญ้าเทียนเกล็ดหอย ลักษณะดอกออกเป็นช่อกระจะบริเวณที่ปลายยอดและตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีม่วงสดหรือสีม่วงบานเย็น กลีบรองดอกที่โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน
- ผลของหญ้าเทียนเกล็ดหอย ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนและโค้งเล็กน้อย ตามฝักมีรอยคอดเป็นข้อ ๆ ตามจำนวนของเมล็ด ประมาณ 1-6 ข้อ เมื่อแก่จัดและแห้งแต่ละข้อจะหลุดออกจากกัน เมล็ดมีขนาดเล็ก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต มันวาว ออกดอกและติดผล
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าเกล็ดหอย
- ในหญ้าเทียนเกล็ดหอยจะสารที่พบ คือสารจำพวก Flavonoid glycoside และสารจำพวก Phenols และ Amino acid, Coumarin, Hyperin อีกทั้งยังพบน้ำมันระเหยต่าง ๆ
- น้ำต้มจากหญ้าเกล็ดหอยเทศ ในความเข้มข้น 1:1 จะสามารถยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Strepto coccus และ Staphylo coccus ได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อบิดหรือเชื้อไทฟอยด์ได้ดีอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : saiyathai.com. [4 มีนาคม 2020].
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา, กรมปศุสัตว์. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ncna-nak.dld.go.th. [4 มีนาคม 2020].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/index.php. [4 มีนาคม 2020].